โรคแพนิค

วันจันทร์ 3 พฤศจิกายน 2008 at 8:00 am 6 ของความคิดเห็น

ใจเต้นแรง หายใจไม่ออก เหงื่อแตก กลัวตาย ฉันเป็นโรคอะไรเนี่ย???

อาการดังกล่าวข้างต้นเป็นได้หลายโรคครับ ทั้งโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคต่อมธัยรอยด์ทำงาน
ผิดปกติ หรือเกิดจากได้รับสารบางชนิดมากเกินไป เช่นดื่มกาแฟ เกิน 2 แก้วต่อวัน ดื่มเครื่องดื่ม
บำรุงกำลังเกินวันละ 2 ขวด หรือสาเหตุอื่นๆอีกมากมาย แต่โรคที่จะอธิบายต่อไปนี้ เป็นโรคที่มี
อาการดังกล่าวข้างต้น และอาจมีมากกว่านั้นอีก เช่น อาการแน่นหน้าอก ใจสั่น กลัว เวียนศีรษะ
จุกแน่นท้อง มือเท้าเย็นชารู้สึกเหมือนจะควบคุมตัวเองไม่ได้ เหมือนตัวเองกำลังจะตายหรือจะเป็น
บ้า โดยอาการดังกล่าว เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายใน 10 นาที โดยไม่สามารถรู้ตัวได้ว่าจะเกิด
อาการ ไม่มีอะไรมากระตุ้นแล้วจึงเกิดอาการ แต่จู่จู่ก็เป็นขึ้นมาทันที และหลังจากตรวจอย่างละ-
เอียดแล้ว ไม่พบความผิดปกติใดใดในร่างกาย โรคที่ว่านี้ชื่อว่า Panic disorderหรือ โรคแพนิค
ครับ บางคนอาจจะเรียกว่าโรคตื่นตระหนกก็ได้ครับ ยังไม่มีชื่อภาษาไทยที่ชัดเจน หรือที่หลายคน
อาจจะเคยได้ยินว่าหมอบอกว่าเป็นโรคหัวใจอ่อน โรคสารทลงหัวใจ ฯลฯ หมอพบโรคนี้ได้บ่อย
แต่รู้สึกว่าผู้ป่วยและญาติยังขาดความรู้ความเข้าใจโรคนี้อย่างมาก

ทำความเข้าใจกับโรคแพนิค
อีกไม่กี่ปีข้างหน้า โรคแพนิคคงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปและเข้าใจกันอย่างดี ถึงสาเหตุและการรักษา
หลังจากมีเครื่องตรวจการทำงานของสมองที่ละเอียดและทันสมัย แต่ ณ วันนี้น้อยคนนักที่จะรู้จัก
โรคแพนิค และน้อยกว่านั้นที่จะเข้าใจโรคแพนิคอย่างถูกต้อง ยาขนานแรกที่หมอจะให้สำหรับคน
ไข้โรคนี้คือ คุณรู้หรือไม่ว่าคุณเป็นอะไร เกิดจากสาเหตุใด และจะต้องรักษาและปฏิบัติตัวอย่าง
ไร ถ้ายาขนานแรกได้ผล ก็เรียกว่ารักษาหายไปกว่าครึ่งแล้ว

คนเป็นโรคแพนิคมากน้อยแค่ไหน
จากการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา พบถึงร้อยละ 1.5 ถึง 5 นั่นหมายถึงถ้าคุณรู้จักคน 100
คน มีโอกาสที่คนที่คุณรู้จักจะเป็นโรคนี้ได้ถึง 1-5 คนเลยทีเดียว โรคแพนิคพบในผู้หญิงมากกว่า
ผู้ชาย 2-3 เท่า โดยมักเริ่มเป็นครั้งแรกในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น อายุเฉลี่ยเมื่อเริ่มเป็นอยู่ที่ 25 ปี

อาการแพนิคเกิดจากอะไร
มีการศึกษาวิจัยมากมาย พยายามจะอธิบายอาการของโรคแพนิค ว่าเกิดจากสาเหตุใด ขออธิบาย
เพื่อความเข้าใจง่ายๆนะครับ จริงๆแล้วเวลาคนเราตกใจ ร่างกายก็จะมีการตอบสนองต่อเหตุการณ์
ที่ทำให้ตกใจ ผ่านหลายระบบของร่างกาย ที่สำคัญคือระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ใจเต้นแรง
เหงื่อออก หายใจเร็ว เพื่อเตรียมความพร้อมให้ร่างกายสู้กับสถานการณ์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
ได้ เพียงแต่ว่าระบบนี้จะทำงาน เมื่อมีสิ่งมากระตุ้นเท่านั้น ถ้าระบบนี้ทำงานเองโดยไม่มีสิ่งใดใด
มากระตุ้นเลย นั่นคืออาการของโรคแพนิคครับ คือระบบประสาทอัตโนมัติทำงานไวเกินไปนั่นเอง

ระบบประสาทอัตโนมัติเกี่ยวกับโรคแพนิคอย่างไร
ขออธิบายง่ายๆอีกเช่นกันครับ ระบบร่างกายอาจแบ่งได้หลายระบบ แต่เพื่อให้เข้าใจง่ายสำหรับ
อธิบายโรคนี้เท่านั้นนะครับ จะขอแบ่งเป็น 2 ระบบ ได้แก่ระบบที่เราสั่งการได้ เช่น เราอยากจะยก
แขน ยกขา ลืมตา อ้าปากเรานึกอย่างไร ร่างกายจะทำตามที่เรานึกทันที ส่วนอีกระบบหนึ่งคือ
ระบบประสาทอัตโนมัติ เราสั่งให้มันทำงานไม่ได้ แต่มันจะทำงานเมื่อสิ่งแวดล้อมภายนอกเปลี่ยน
แปลงไป ระบบนี้จะทำหน้าที่รักษาสมดุลให้ร่างกาย เช่น เราจะสั่งให้หัวใจเราเต้นเร็วขึ้นได้หรือไม่
คำตอบคือไม่ได้ แต่ถ้าผ่านเหตุการณ์ตื่นเต้นมา ทั้งดีและไม่ดี เช่น กำลังจะให้ดอกไม้แฟนครั้ง
แรกในชีวิตต้องพูดต่อหน้าคนนับพัน โดนตำรวจเรียกขณะฝ่าไฟแดง สุนัขตัวใหญ่วิ่งเข้าหา ระบบ
ประสาทอัตโนมัติจะทำงานทันที สั่งให้หัวใจเต้นแรงเพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆให้มากขึ้น
เตรียมร่างกายให้พร้อมที่สุด จะสู้หรือจะหนี จะได้รอดจากสถานการณ์ไปได้ อีกตัวอย่างเช่น เรา
จะสั่งให้เหงื่อออกเองไม่ได้ แต่เหงื่อจะออกต่อเมื่อเราไปยืนตากแดด อยู่ในที่อากาศร้อน เม็ด
เหงื่อที่ออกมาจะพาเอาความร้อนในร่างกายออกมาด้วยเพื่อไม่ให้อุณหภูมิ ภายในร่างกายร้อน
เกินไปการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติที่ดี เปรียบเหมือนสัญญาณกันขโมยรถยนต์ จะดัง
ต่อเมื่อมีขโมยจะมางัดแงะรถเท่านั้น ระบบประสาทอัตโนมัติไวเกิน สาเหตุของโรคแพนิคเปรียบ
เหมือนสัญญาณกันขโมยรถยนต์ที่ไวเกิน ลมพัดใบไม้หล่นใส่สัญญาณก็ดัง สุนัขปัสสาวะใส่ล้อ
ก็ดัง น่ารำคาญ ทั้งที่ไม่มีขโมยมางัดแงะใดใดเลย ระบบประสาทอัตโนมัติที่ไวเกินก็เช่นกัน ไม่มี
อะไรผิดปกติเกิดขึ้นเลย แต่ระบบก็ส่งสัญญาณไปยังส่วนต่างๆของร่างกายให้ทำงาน เช่น สั่งให้
ใจเต้นเร็ว สั่งให้หายใจแรง สั่งให้เหงื่อออก เป็นต้น สารเคมีในสมอง เกี่ยวอะไรกับระบบประสาท
อัตโนมัติ ? ระบบประสาทอัตโนมัติจะทำงานได้ ต้องส่งผ่านเส้นประสาท จากสมองไปยังอวัยวะ
ต่างๆเช่นหัวใจ ต่อมเหงื่อ โดยอาศัยสารเคมีเล็กๆเป็นตัวส่งสัญญาณ ถ้าสารเคมีดังกล่าวอยู่ใน
ภาวะปกติ สมดุลดี ก็จะทำให้สัญญาณที่ส่งไปถูกต้อง ไม่ผิดพลาด ไม่ไวเกิน ไม่ช้าเกิน ตรงกัน
ข้ามถ้าสารเคมีดังกล่าวเสียสมดุล ก็จะนำไปสู่การสั่งงานที่ผิดพลาด หลายคนคงเคยได้ยินแพทย์
อธิบายว่าเป็นเพราะสารเคมีในสมองไม่สมดุลก็เป็น สาเหตุให้เกิดโรคแพนิคได้นั่นเอง

ทำไมสารเคมีในสมองถึงไม่สมดุล มีหลายสาเหตุ เช่น

  • กรรมพันธุ์ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย มีพันธุ์เป็นโรคแพนิค ลูกหลานก็มีแนวโน้มจะเป็นได้มาก
    กว่าคนที่ไม่มีกรรมพันธุ์
  • ประสบการณ์ในชีวิต มีงานวิจัยยืนยันว่าคนที่เคยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิตโดยเฉพาะ
    ในวัยเด็ก มีโอกาสเป็นโรคแพนิคได้มากกว่าคนที่ไม่เคยผ่านเหตุการณ์เลวร้าย เช่น การ
    ถูกทอดทิ้งในวัยเด็ก การสูญเสียพ่อแม่ตั้งแต่วัยเด็ก การถูกทำร้ายร่างกาย การถูกล่วง
    ละเมิดทางเพศ เหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการเสียสมดุล
    ของสารเคมีในสมองได้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวยังต้องได้รับการศึกษาวิจัยต่อไป
  • การใช้สารเสพติด จะไปทำให้สารเคมีในสมองเสียสมดุลไปอย่างตรงไปตรงมา

มีโอกาสเป็นบ้าได้หรือไม่ ไม่ค่อยพบว่าคนที่เป็นโรคแพนิคแล้วกลายเป็นโรคจิตเภทในภาย
หลัง แต่จะพบภาวะอื่นๆตามมา เช่น

  • ภาวะอะโกราโฟเบีย (Agoraphobia) หรือภาวะกลัวที่จะต้องอยู่ในที่ที่ไม่สามารถได้รับ
    ความช่วยเหลือได้เมื่อมี อาการ ทำให้ไม่กล้าอยู่คนเดียว ไม่กล้าไปไหนมาไหนคนเดียว
  • ภาวะซึมเศร้า หลังจากมีอาการและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ตรวจหลายอย่าง หลาย
    โรงพยาบาลก็ไม่พบสาเหตุ โดยที่ผู้ป่วยคิดว่าตัวเองผิดปกติแน่แต่ตรวจไม่พบ จึงเริ่มท้อ
    แท้ เบื่อหน่าย บางรายเป็นหัวหน้าครอบครัว ก็วิตกกังวลว่าจะไม่มีคนช่วยดูแลครอบครัว
    ยิ่งทำให้อาการเป็นหนักเข้าไปอีกบางรายถึงขั้นคิดอยากตาย รวมทั้งจะพาครอบครัวตาย
    ไปด้วยกันหมดก็มี

รักษาได้อย่างไร
แบ่งเป็น 2 อย่างที่สำคัญ คือ การรักษาด้วยยา และการดูแลทางด้านจิตใจ
การรักษาด้วยยา
การรักษาโรคแพนิคด้วยยาสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนคือ

1. ยา“พระเอก” หมายถึงยาที่ใช้เป็นหลักในการรักษา ต้องใช้ต่อเนื่องตามระยะเวลาที่แพทย์
กำหนด เมื่อเราทราบแล้วว่าโรคแพนิค สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเสียสมดุลของสารเคมีในสมอง
โดยเฉพาะสารซีโรโทนินจึงได้มีการคิดค้นยาเพื่อปรับสารเคมีดังกล่าวให้เข้า สู่ภาวะสมดุลซึ่งเป็น
กลุ่มยากลุ่มเดียวกับที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า ยาในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ช้า ผู้ป่วยต้องรับประทานยา
อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์จึงจะเริ่มได้ผล ผลที่ได้คือการเกิดอาการแพนิคจะ
ห่างลงเรื่องๆและอาการแพนิคที่เกิดขึ้นก็จะ เบาลงเรื่อยๆทำให้ผู้ป่วยมีความจำเป็นที่จะต้องรับ
ประทานยา “พระรอง” น้อยลงเรื่อยๆจึงเป็นการค่อยๆหยุดยา “พระรอง” ไปในตัว โดยทั่วไปเมื่อ
เริ่มให้ยา “พระเอก” และค่อยๆเพิ่มยาขึ้นแพทย์มักสามารถควบคุมอาการให้หายสนิทได้ในเวลา
ประมาณ 1-2 เดือนเมื่อผู้ป่วยหายสนิทแล้วต้องให้ผู้ป่วยรับประทานยาต่อไปอีก 8-12 เดือน
แล้วจึงค่อยๆหยุดยา มีผู้ป่วยบางรายที่กลับมีอาการอีกเมื่อลดยาลงถึงระดับหนึ่งในกรณีเช่นนี้ให้
เพิ่มยากลับขึ้นไปในระดับก่อนที่จะมีอาการกลับมาอีก รอไว้ 2-3 เดือนแล้วค่อยๆลดยาลงช้าๆจน
สามารถหยุดยาได้อย่างไรก็ดีควรให้ผู้ป่วยทราบว่า โรคแพนิคเป็นโรคเรื้อรังเมื่อหยุดยาไประยะ
หนึ่งผู้ป่วยอาจกลับมามีอาการอีก ได้ และจะมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่เลิกรับประทานยาไม่ได้และต้อง
รับประทานยา “ป้องกัน” ในขนาดน้อยๆต่อไปเรื่อยๆซึ่งก็ไม่มีอันตรายอะไร

2. ยา“พระรอง” พระรองในที่นี้หมายถึง ยาที่ช่วยบรรเทาอาการเป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็วสามารถระงับ
อาการแพนิคที่เกิด ขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วยาประเภทนี้คือยาคลายกังวลยาที่นิยมใช้คือ
alprazolam แต่ก็อาจใช้ lorazepam, clonazepam, หรือแม้แต่ diazepam ก็ได้เราจะให้ผู้
ป่วยรับประทานยาเมื่อเกิดอาการแพนิค อาการแพนิคจะหายไปอย่างรวดเร็วแต่เมื่อยาหมดฤทธิ์ผู้
ป่วยอาจเกิดอาการแพนิค ขึ้นมาได้อีกปัญหาที่สำคัญของยาในกลุ่มนี้คือสามารถเกิดการเสพติด
ได้ถ้าใช้ ติดต่อกันเป็นเวลานานๆนั่นจึงเป็นสาเหตุทำให้ยากลุ่มนี้เป็นได้แค่พระรอง เพราะจะให้ใน
ช่วงสั้นๆเท่านั้น

การดูแลทางด้านจิตใจ
ผู้ที่เป็นโรคแพนิคทุกคน ต้องการความเข้าใจเป็นอย่างมาก เพราะคนที่ไม่เป็นอย่างเขาจะไม่รู้ว่า
มันทรมานเพียงใด บางคนกลับคิดว่าเป็นการแกล้งทำ ซึ่งยิ่งเป็นการทำร้ายจิตใจผู้ป่วยอย่างมาก
ดังนั้น ทัศนคติของคนรอบข้างทั้งญาติ เพื่อน แม้กระทั่งทีมแพทย์พยาบาลที่ดูแลจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ต้องหนักแน่นในความปลอดภัยของร่างกาย หลังจากการตรวจอย่างละเอียดแล้วไม่พบความผิด
ปกติใด ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเชื่อมั่น อาการแพนิคก็จะค่อยทุเลาลงไป
นึกถึงการปฏิบัติตนเมื่อเกิดอาการโดยมีการเตรียมการไว้ก่อน เช่น การหายใจเข้าออกลึกๆช้าๆ
การหายใจในถุงกระดาษหากมี hyperventilation เป็นอาการเด่น หรือการกินยาที่แพทย์ให้พก
ติดตัวไว้ การฝึกการผ่อนคลายอื่นๆ เช่น การทำสมาธิ งานอดิเรกต่างๆที่ช่วยให้มีความสุข

ท้ายที่สุดนี้ ขอสรุปว่า โรคแพนิคเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ หากมีความเข้าใจกับโรคแพนิค
อย่างถูกต้อง ย่อมนำไปสู่ผลการรักษาที่ดี และไม่เป็นโรคเรื้อรังอีกต่อไปครับ

ข้อมูลจากบทความสุขภาพ วารสารเก้าทันโรค โรงพยาบาลพระรามเก้า

Entry filed under: Health. Tags: , , , , , , .

Opera อุปรากรแห่งอินเตอร์เน็ท ความว่างเปล่า

6 ความเห็น Add your own

  • 1. manung36  |  วันจันทร์ 3 พฤศจิกายน 2008 เวลา 8:31 pm

    waduh bingung tulisan apaan nih! 😉

    ตอบกลับ
  • 2. Ed Torres  |  วันอังคาร 4 พฤศจิกายน 2008 เวลา 7:18 am

    Hey! Where is the translation?

    ตอบกลับ
  • 3. กันขโมย  |  วันพฤหัสบดี 27 พฤศจิกายน 2008 เวลา 10:22 pm

    ขอบคุณสำหรับข้อมูลดี ๆ ครับ

    ตอบกลับ
  • 4. กันขโมยบ้าน  |  วันพฤหัสบดี 8 มกราคม 2009 เวลา 3:37 pm

    เป็นโรคที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยครับ

    ขอบคุณสำหรับข็อมูลฮะ

    ตอบกลับ
  • 5. สนับ  |  วันอังคาร 3 กุมภาพันธ์ 2009 เวลา 2:14 pm

    ก่อนอื่นขอให้กำลังใจกับทุกคนที่เป็นอาการของแพนิค อย่ากลัวอย่าท้อ เพราะยิ่งกลัวยิ่งท้อทำให้ยิ่งเป็น
    ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่มีอาการแพนิคมาห้าปีแล้วคะ หาหมอทานยามาตลอดอย่างต่อเนื่อง ทุกวันเกือบหายดีแล้ว ครั้งแรกที่เป็นตกใจมากเพราะหัวใจเต้นเร็วมาก เมือเท้าเย็น ร้อนแน่นตามลำตัว รีบไปโรงพยาบาลเพื่อให้หมอช่วยชีวิต แต่พอไปถึงหมอๆกลับบอกว่าไม่เป็นอะไร อย่าเครียดก็เท่านั้น ครั้งนั้นก็จบกันไปไม่ได้คิดอะไรมากแล้ว แต่พอวันที่สองก็มีอาการเหมือนเดิมอีก ก็ตกใจอีกไปหาหมอเหมือนเดิมอีก ก็ผลการตรวจและคำพูดของหมดก็เหมือนเดิมอีก ทีนี้เริ่มทำให้ไม่สบายใจเกิดขึ้น ว่าตัสเราป่วยเป็นอะไรกันแน่ ดิฉันเริ่มไปหาหมอหลายๆคีลนิคหลายๆโรงพยาบาล ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนทำให้สบายใจได้ ความเครียดจริงเริ่มตามมา จนวันหนึ่งมีหมอที่รูกจักกันบอกว่าเป็นอาการของแพนิค ดิฉันเลยเข้าอินเตอร์เน็ตหาอาการแพนิค เลยพบที่โรงพยาบาลรามาฯเขียนไว้ ทำให้ดิฉันดีใจและเหมือนโรคหายไปแล้วครึ่งหนึ่ง เพราะมีที่รู้ที่รักษาแล้ว หลังจากนั้นดิฉันก็หาหมอและทานยาต่อเนื่องตลอดมา แต่อยากบอกว่ายาที่ทานกว่าจะถูกกับตัวเองได้นั้นลำบากเหมือนกัน เพราะทานยาแล้วอาการข้างเคียงกับยานั้นมากพอควร และการทานยาต้องดูสังเกตุตัวเราเองด้วย ว่ายานั้นมากไปหรือน้อยไป เพราะหากเราทานยาตามหมอสั่งแต่ ทำให้ตัวเราเองยกหัวไม่ขึ้น เกิดอาการงง มากเกินไปก็ควรปรึกษาหมอและลดปริมาณลง หลังจากนั้นก็สังเกตุอาการตัวเองไปเรื่อย เวลาพบหมอก็บอกอาการของเราที่เป็นจริง จะได้รักษาง่ายขึ้น ที่กล่าวมาเพื่ออุทาหรณ์ให้กับเพื่อนมนุษย์ พบหมอเถอะคะหมอจิตเวช ไม่ต้องอาย

    ตอบกลับ
  • 6. s  |  วันพฤหัสบดี 12 กุมภาพันธ์ 2009 เวลา 10:34 pm

    ผมเป็นแพนิคมานับสิบปี เป็นๆหายๆ กินยาจนเบื่อ อีกอย่างราคายาค่อยข้างแพง บางครั้งคนรอบข้างไม่ค่อยเข้าใจ ยิ่งทำให้เครียด แตผมไม่เคยหยุดทำงานเลย ว่างงานก็จะเครียด บางครั้งก็รู้สึกเบื่อตัวเองเหมือนกัน จริงๆอยากหาใครสักคนมาคุย หรือเข้าใจเราบ้าง ใครที่เข้าใจก็คุยกับผผมหน่อยนะครับ

    ตอบกลับ

ใส่ความเห็น

Trackback this post  |  Subscribe to the comments via RSS Feed


 Feed  RSS

Bookmark and Share

Contact US

Surawinn Pati's Facebook profile

Recent Readers

View My Profile View My Profile View My Profile View My Profile View My Profile

Twitter

Dipity

Let’s Go

My Unkymood Punkymood (Unkymoods)


I got this Gogeta Bubs
from TheLordNick.com/Bubs

qrcode

Get your own free Blogoversary button!